หากเอ่ยถึงฟิลเลอร์ เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี ฟิลเลอร์คือสารเติมเต็มกรดไฮยาลูรอนิค ที่สร้างขึ้นมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้คล้ายคลึงกับเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนัง จึงช่วยในการปรับรูปหน้า เติมเต็มร่องลึกบนใบหน้า ปกติแล้วกรดไฮยาลูรอนิคสามารถพบได้ในชั้นผิวหนังปกติ แต่จะสลายไปเมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนั้นการฉีดเข้าไปในผิวจึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
ทำไมต้องแก้ฟิลเลอร์
ส่วนมากแล้วแพทย์จะทำการแก้ฟิลเลอร์ให้ก็ต่อเมื่อเกิดผลข้างเคียงในการฉีดฟิลเลอร์ โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้
1.เกิดผลข้างเคียงในขณะที่ฉีด
– เส้นเลือดอุดตัน ส่งผลให้เกิดภาวะเนื้อตาย หรือบางครั้งฟิลเลอร์เข้าไปสู่เส้นเลือดที่เลี้ยงดวงตาทำให้ตาบอดได้
– ฟกช้ำ เพราะเข็มฉีดยาที่ผ่านเส้นเลือด
2.ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะแรก
– มีลักษณะเป็นก้อนขรุขระและบวมนูน
– มีอาการติดเชื้อเฉียบพลัน
3.ผลข้างเคียงในระยะยาว
– เกิดตุ่ม ก้อน และมีอาการบวมหลังจากแพ้และมีอาการติดเชื้อ
– มีหนองหรือน้ำเหลืองซึมมาจากการใช้ฟิลเลอร์ถาวร
อะไรคืออาการเนื้อตายหลังจากฉีดฟิลเลอร์
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าเนื้อตายหลังจากฉีดฟิลเลอร์ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้บ่อย หากว่าคนไข้เข้ารับบริการจากทีมแพทย์ที่ไม่ชำนาญ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงหลายด้าน โดยเนื้อตายคือผลข้างเคียงแบบเบื้องต้น ในกรณีที่เป็นผลข้างเคียงรุนแรงที่สุดคืออาการตาบอด อย่างไรก็ดีหากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์ ควรศึกษาเรื่องอาการเนื้อตายหลังจากฉีดฟิลเลอร์ให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
การรักษาเนื้อตายหลังฉีดฟิลเลอร์
ปกติแล้วผลข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์นั้นเป็นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอาการบวม ปวด หรือตึง อย่างไรก็ดียังมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมากกว่านั้น คืออาการแพ้ฟิลเลอร์หรือฟิลเลอร์เน่า ทำให้ต้องมีการรักษาเนื้อตายและแก้ฟิลเลอร์ ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ที่ชำนาญเท่านั้น
การสังเกตตัวเองหลังจากฉีดฟิลเลอร์
1.ฟิลเลอร์อุดตันหลอดเลือด
คนไข้ควรหมั่นสังเกตตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนหลังจากฉีดฟิลเลอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดการอุดตันหลอดเลือดดำ ผิวหนังบริเวณที่ฉีดจะเป็นสีแดงหรือคล้ำเข้มกว่าปกติ แตกต่างจากการที่ฟิลเลอร์ไปอุดตันหลอดเลือดแดงที่จะทำให้ผิวสีซีด แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดความผิดปกติใดๆ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที เพื่อทำการแก้ฟิลเลอร์
2.การติดเชื้อ
ผลข้างเคียงอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวังไม่แพ้กันก็คือการติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อมักเกิดขึ้นได้ใน 3-7 วันหลังจากฉีดฟิลเลอร์แล้ว ซึ่งการติดเชื้อจะมีลักษณะบวม ช้ำ และเป็นหนอง โดยแพทย์จะให้คนไข้รับประทานยาปฏิชีวนะและยาลดบวม โดยโอกาสในการติดเชื้อจะลดลงหากรับประทานยา แต่หากคนไข้ดื้อยา แพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะมากกว่า 1 ตัว นอกจากนี้คนไข้เองก็อาจจะต้องระมัดระวังผลข้างเคียงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังเขียวช้ำ ม่วง บวมและแดง โดยผลข้างเคียงเหล่านี้สามารถเกิดได้ตามปกติหลังจากที่ฉีดฟิลเลอร์หรือทำหัตถการทางการแพทย์อยู่แล้วและสามารถหายเองได้ในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
จึงอาจสรุปได้ว่าความรุนแรงที่อันตรายจากการฉีดฟิลเลอร์คือฉีดฟิลเลอร์แล้วอุดตันในเส้นเลือดหรือเส้นประสาทบนใบหน้า ส่งผลให้เนื้อบริเวณนั้นตาย และเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงในจุดนั้นๆ ได้
เนื้อตายหลังจากฉีดฟิลเลอร์
การเกิดเนื้อตาย เป็นผลจากการฉีดฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือดโดยตรง เช่น เส้นเลือดบนใบหน้า ในกรณีที่แพทย์จิ้มเข็มลงไปบนผิวหนัง เมื่อมีการดึงเข็มออกแล้วเลือดติดเข็มมาด้วย นั่นหมายความว่ามีการฉีดฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือดโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้แพทย์ซึ่งผ่านการอบรมมาแล้วจะรู้ว่าตำแหน่งใดที่ไม่ควรฉีดเข้าไป ดังนั้นหากว่าคนไข้ฉีดฟิลเลอร์แล้วเกิดเป็นแผลดำ สามารถวินิจฉัยได้ง่ายๆ ว่าเกิดเนื้อตายที่จุดนั้นอย่างแน่นอน ซึ่งอาการที่ปรากฏแรกๆ อาจไม่ได้ดูรุนแรงเท่าใดนัก มองเผินๆ เหมือนมีตุ่มหรือหนอง ทำให้คิดว่าเป็นสิว หรือบางครั้งแพทย์ที่ทำการฉีดไม่มีความชำนาญมากพอ ก็ไม่ทราบว่านี่เป็นอาการเริ่มแรกของเนื้อตายนั่นเอง ทำให้ต้องแก้ฟิลเลอร์
ผลร้ายแรงของฟิลเลอร์เน่าที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
1.การอักเสบและติดเชื้อ การอักเสบและติดเชื้อพบได้ยากในกรณีที่ฉีดกับแพทย์ผู้ชำนาญงาน แต่พบได้บ่อยในเคสฉีดกับหมอกระเป๋าหรือคลินิกเถื่อน
2.การย้อยและเป็นก้อนแข็ง เกิดขึ้นเมื่อฉีดฟิลเลอร์ปลอมแล้วเกิดเป็นก้อนบวม หรือแข็ง ย่อยสลายไม่หมด
รักษาอย่างไรหากเนื้อตายจากฟิลเลอร์ปลอม
เนื้อตายเกิดจากการที่ฉีดฟิลเลอร์ปลอมแล้วฟิลเลอร์ไม่สามารถสลายไปเองได้ คนไข้สามารถพบแพทย์เพื่อผ่าตัดขูดฟิลเลอร์ออก จากนั้นจึงรักษาตามอาการ โดยการผ่าตัดจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในตำแหน่งของเส้นประสาทและเส้นเลือดที่สำคัญต่างๆ
วิธีแยกฟิลเลอร์จริงและฟิลเลอร์ปลอม
ฟิลเลอร์ปลอมหรือซิลิโคนเหลวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เนื่องจากคนไข้เข้าใจผิดว่าซิลิโคนเหลวคือชนิดเดียวกันกับฟิลเลอร์แท้ หรือในบางกรณีที่หลายคนไม่ทราบและถูกหลอกว่าเป็นฟิลเลอร์แท้ เนื่องจากคลินิกเถื่อนมีการเลียนแบบแพคเกจกล่องให้เหมือนกับของแท้ ซึ่งข้างในเป็นสารกึ่งซิลิโคน ผลลัพธ์ของการฉีดคือจะไม่ย่อยสลายและทำให้เนื้อเน่าได้ อย่างไรก็ดีวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นว่าฟิลเลอร์ที่คนไข้ได้ฉีดเป็นฟิลเลอร์แท้หรือฟิลเลอร์ปลอม มีวิธีพิจารณาดังต่อไปนี้
1.ราคา
คนไข้ควรพิจารณาราคาก่อนเป็นหลัก หากสังเกตแล้วพบว่าราคาถูกมากเกินไป ควรตั้งข้อสงสัยเอาไว้เลยว่านี่คือฟิลเลอร์ปลอม ดังนั้นจึงไม่ควรเห็นแก่ของราคาถูกเกินไป เพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายจากฟิลเลอร์ปลอมอีกด้วย
2.ฉลากภาษาไทยบนบรรจุภัณฑ์
ฟิลเลอร์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา จะมีฉลากภาษาไทยที่ระบุรายละเอียดของสินค้า โดยจะมีการติดราคาและวันหมดอายุอย่างชัดเจนที่บริเวณข้างกล่อง และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสารฟิลเลอร์ชนิดนั้นๆ หากว่าฟิลเลอร์ที่คุณได้รับไม่มีฉลากภาษาไทยระบุ อาจเป็นไปได้ว่าคือของปลอม
3.มาตรฐานความปลอดภัย
หากเป็นฟิลเลอร์แท้จะมีการระบุถึงมาตรฐานความปลอดภัยเอาไว้อย่างชัดเจน หากต้องการฉีดฟิลเลอร์ให้ปลอดภัยและไม่เสี่ยง ควรเลือกฟิลเลอร์ที่มีองค์การอาหารและยารับรอง เพราะฟิลเลอร์ที่ผ่านการรับรองจะมั่นใจได้ถึงคุณภาพ
4.หลีกเลี่ยงหมอกระเป๋า
การฉีดฟิลเลอร์โดยหมอกระเป๋าคือสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการได้รับฟิลเลอร์ปลอมแล้ว ยังมีเรื่องของเทคนิคเฉพาะทางที่จำเป็นต้องให้แพทย์ที่มีความชำนาญจริงๆ เป็นผู้ฉีดให้เท่านั้น เพราะการฉีดฟิลเลอร์จะต้องฉีดในจุดที่ละเอียดอ่อน เช่นบริเวณดวงตา หากว่าฉีดผิดพลาดไปอาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือฟิลเลอร์เป็นก้อน
อย่างไรก็ดีฟิลเลอร์เน่า มักเกิดจากการที่ฟิลเลอร์ซึ่งฉีดเข้าไปไม่สามารถย่อยสลายได้จนหมด หรือค้างอยู่ในผิวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งวิธีแก้คือการฉีดสลายฟิลเลอร์ในกรณีที่เป็นฟิลเลอร์แท้ แต่หากว่าเป็นฟิลเลอร์ปลอมก็จะต้องผ่าตัดและทำการขูดออกเท่านั้น หากไม่ต้องการให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดฟิลเลอร์หรือต้องไปแก้ฟิลเลอร์ในภายหลัง ควรเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐานและเลือกฟิลเลอร์อย่างรอบคอบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้